ยาฉีดคุมกําเนิด
ยาฉีดคุมกำเนิด (Injectable contraceptive) คือ วิธีการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวแบบหนึ่ง โดยจะเป็นการฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อของสตรีในระยะเวลาตามที่แพทย์กำหนด หลังจากฉีดตัวยาจะค่อย ๆ ขับฮอร์โมนออกมา เป็นวิธีที่นิยมใช้กันมากในรายที่ต้องการเว้นระยะการมีบุตร เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูง ทำได้ง่าย สะดวก และมีราคาถูก
การออกฤทธิ์ของยาฉีดคุมกำเนิด
ฮอร์โมนโปรเจสติน (Progestin) จะเป็นตัวยับยั้งการตกไข่ ทำให้ไม่มีไข่มารอปฏิสนธิ นอกจากนั้นยังทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางตัวไม่เหมาะสมแก่การฝังตัวของไข่ และทำให้มูกที่ปากมดลูกมีความเหนียวข้น ส่งผลให้ตัวอสุจิไม่สามารถว่ายผ่านเข้าไปผสมกับไข่ได้ (ผ่านเข้าไปได้ยาก) จึงสามารถช่วยคุมกำเนิดได้
ผู้ที่เหมาะจะฉีดยาคุมกำเนิด
- สตรีที่ต้องการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวที่มีประสิทธิภาพสูงและปลอดภัย
- สตรีที่ลืมรับประทานยาคุมกำเนิดบ่อย ๆ ต้องการความสะดวก ไม่ต้องการรับประทานยาคุมกำเนิดแบบเดิมทุก ๆ วัน
- สตรีหลังคลอดที่กำลังให้นมบุตร (ต้องเป็นยาฉีดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว)
- สตรีที่มีอาการปวดประจำเดือนเป็นประจำ
- สตรีที่สูบบุหรี่
ข้อดีของการฉีดยาคุมกำเนิด
- สามารถรับบริการได้ง่าย เนื่องจากวิธีการและอุปกรณ์สำหรับการให้บริการไม่ยุ่งยาก เลือกให้บริการแก่สตรีทั่วไปได้อย่างกว้างขวาง เพราะยาฉีดมีข้อห้ามในการใช้ยาน้อย
- มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูงมาก (มากกว่าหรือเทียบเท่ากับการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด)
- ราคาถูกเมื่อเทียบกับวิธีคุมกำเนิดแบบอื่น เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด หรือ การใส่ห่วงอนามัย
- ให้ความสะดวก ใช้งานง่าย ฉีดครั้งเดียวก็สามารถคุมกำเนิดได้นานถึง 3 เดือน โดยไม่ต้องใช้ทุกวันเหมือนยาเม็ดคุมกำเนิด
- ไม่ขัดขวางขั้นตอนต่าง ๆ ของการร่วมเพศ
- สามารถใช้ได้ดีในขณะให้นมลูก เพราะไม่ทำให้น้ำนมแห้ง
- การไม่มีประจำเดือนภายหลังการฉีดมีผลดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นโรคโลหิตจาง
ข้อเสียของยาฉีดคุมกำเนิด
- จะต้องเสียเวลาไปสถานที่รับบริการบ้างและอาจทำให้ลืมเวลานัดได้
- ต้องให้แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางสาธารณสุขเป็นคนฉีดยาให้
- ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
- ประจำเดือนอาจเปลี่ยนแปลง มาไม่สม่ำเสมอ มากะปริดกะปรอย หรือไม่มีประจำเดือน และหลาย ๆ รายอาจมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
- เนื่องจากการที่มีเลือดออกแบบกะปริดกะปรอย (ในช่วงแรกของการฉีด หรืออาจจะหลายเดือน) จึงทำให้ต้องใส่ผ้าอนามัยอยู่ตลอดเวลา จะไม่ใส่ก็ไม่ได้ เพราะบางครั้งก็มาโดยไม่ได้นัดแนะ ปัญหาที่ตามมาก็คือทำให้เกิดความอับชื้น มีตกขาว เป็นต้น
- เมื่อเกิดอาการข้างเคียงจะต้องรอจนกว่ายาคุมจะหมดฤทธิ์ อาการถึงจะหายไปเอง
- เมื่อหยุดฉีดร่างกายจะยังไม่พร้อมมีลูกได้ทันที (มีลูกได้ช้ากว่าการคุมกำเนิดแบบอื่น) โดยอาจจะต้องรอไปเกือบ 1 ปี ทำให้บางคนเข้าใจผิดว่าการฉีดยานาน ๆ จะทำให้เป็นหมัน เรื่องนี้ไม่จริง แต่อาจจะทำให้มีลูกได้ช้า ไม่ทันใจ คนที่ฉีดยาคุมกำเนิดจึงต้องวางแผนไว้อย่างดี เพราะไม่ใช่เมื่อพร้อมจะมีลูกก็จะหยุดฉีดแล้วจะมีได้ทันที แต่ต้องรอไประยะหนึ่งก่อน เช่น บางคนฉีดยาไป 3 ปีกว่า กว่ายาจะหมดฤทธิ์ก็ต้องรอไปอีก 10 เดือน แต่ถ้าฉีดนานกว่านั้นก็อาจจะรอยาวนานขึ้นไปอีก
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.medthai.com/ยาฉีดคุมกำเนิด