EECP เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ถูกพัฒนาขึ้นในปี 1968 โดยนายแพทย์ Birtwell ในระยะแรก EECP ถูกใช้สำหรับรักษาภาวะความดันโลหิตต่ำในผู้ป่วยที่มีหัวใจวายเฉียบพลัน (Cardiogenic shock) จนกระทั่งในปี 1983 นายแพทย์ Zheng เป็นคนแรกที่เริ่มรายงานผลการรักษาด้วย EECPในผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดที่มีอาการเจ็บเค้นหน้าอก (angina) ซึ่งพบว่า 97% ของผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอกดีขึ้น
ในปี 1999 วารสาร Journal of the American College of Cardiology ได้รายงานผลการรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดใน 10 สถาบันทางการแพทย์ชั้นนำของอเมริกา พบว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยในกลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วย EECP มีอาการเจ็บหน้าอกลดลง ใช้ยาอมใต้ลิ้นน้อยลง
ในปี 2002 การศึกษา International EECP Patient Registry (IEPR)ได้รายงานผลการรักษาด้วยEECPในผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดที่มีการทำงานของหัวใจห้องล่างซ้ายผิดปกติร่วมด้วยจำนวน 1,400 ราย พบว่าประมาณ 68% ของผู้ป่วยอาการเจ็บหน้าอกดีขึ้นและส่วนใหญ่อาการยังดีขึ้นต่อเนื่องแม้เวลาผ่านไปนาน 6 เดือน นับจากการรักษาสิ้นสุดลง ในปี 2006 การศึกษา IEPR ได้รายงานผลการติดตามการรักษาผู้ป่วยด้วย EECP โดยมากกว่าครึ่งของผู้ที่มีอาการดีขึ้นหลังการรักษาด้วย EECP ยังคงมีอาการดีขึ้นกว่าเดิมแม้ผ่านการรักษาครั้งแรกไปแล้วถึง 2 ปี ในระยะหลังมานี้เริ่มมีการศึกษาการใช้ EECPในการรักษาภาวะสมองและขาขาดเลือด รวมถึงภาวะอื่นๆอีกหลายอย่าง
การรักษาด้วย EECP ทำอย่างไร
เครื่อง EECP ประกอบด้วย
- ผ้ารัดขา (pneumatic cuff)สามส่วนได้แก่ น่อง ต้นขาและสะโพก
- ผ้าจะต่อกับท่อลม
- เครื่องอัดลม
ซึ่งการปล่อยลมเข้า-ออกผ้าโดยอาศัยโปรแกรมคอมพิวเตอร์โดยจะถูกตั้งให้ปล่อยลมเข้า(cuff inflation)ในเวลาที่หัวใจห้องล่างซ้ายคลายตัวและดูดลมออก(cuff deflation)เวลาที่หัวใจห้องล่างซ้ายหดตัว ผู้มารับการรักษาจะรู้สึกถูกรัดขาและสะโพกเป็นจังหวะ การรักษาในแต่ละครั้งจะใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงเศษ
ใครบ้างที่เหมาะกับการรักษาด้วย EECP
- ผู้ที่มีอาการเจ็บเค้นหน้าอกจากโรคหัวใจที่ได้รับการรักษาเต็มที่แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น
- ผู้ที่มีอาการจากภาวะหัวใจวายที่ได้รับการรักษาอย่างเต็มที่แล้วยังมีอาการ
- ใช้เป็นการรักษาร่วมไปกับการให้ยาในในผู้ป่วยสมองขาดเลือดเฉียบพลัน
ในปัจจุบันการรักษาด้วย EECP เป็นการรักษาทางเลือกสำหรับผู้ที่มีโรคหัวใจที่ใช้ร่วมกับการรักษาด้วยวิธีมาตรฐานและมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาด้วยการขยายหลอดเลือดหัวใจหรือการผ่าตัดหัวใจ
ผู้ที่ไม่เหมาะกับการรักษาด้วย EECP
- อาการของภาวะหัวใจวายมีน้ำคั่งยังคุมไม่ดี
- มีไฟฟ้าหัวใจผิดจังหวะ
- มีความดันโลหิตสูงรุนแรง
- มีภาวะขาขาดเลือดรุนแรง
- มีภาวะหลอดเลือดแดงโป่งพอง
ผลข้างเคียงจากการรักษาด้วย EECP
ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากการรักษาด้วย EECP มักเป็นอาการปวดขาในตำแหน่งที่ถูกรัด หรืออผิวหนังถนอกในตำแหน่งที่ติดอุปกรณ์ตรวจจับสัญญาณไฟฟ้าหัวใจ อาการทางหัวใจอาจแย่ลงในระหว่างการรักษาได้ หากยังคุมได้ไม่ดีเท่าที่ควรในระยะก่อนรักษา โดยภาพรวมของEECP เป็นการรักษาที่ปลอดภัย ผลข้างเคียงต่ำ ไม่มีความเสี่ยงในแง่การได้รับรังสี ไม่มีภาวะไตวายจากการใช้สารทึบรังสีและลดความเสี่ยงจากการผ่าตัดหัวใจ