5 ตัวช่วยเมื่อไม่พร้อมตั้งครรภ์
1. ถุงยางอนามัย
ใช้เมื่อมีเพศสัมพันธ์เท่านั้น สามารถช่วยลดโอกาสการรับเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์รวมถึง การติดเชื้อเอชไอวี และป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ได้ ผลข้างเคียงจากการใช้น้อยมาก ใช้ง่ายและหาซื้อง่าย
สำหรับประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด โดยทั่วไป หากใช้ถุงยางอนามัยสำหรับบุรุษอย่างถูกต้องพบว่าจะมีโอกาสตั้งครรภ์ 2% แต่หากใช้ถูกบ้างไม่ถูกบ้าง จะมีโอกาสตั้งครรภ์ถึง 15% สำหรับประสิทธิภาพในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ถุงยางอนามัยสามารถป้องกันโรคส่วนใหญ่ได้ ยกเว้นโรคที่ติดจากการสัมผัสหรือความใกล้ชิด เช่น โลน หิด เริม หูดหงอนไก่ หูดข้าวสุก เป็นต้น
2. ยากินคุมกำเนิด
ยากินคุมกำเนิดจะมีอยู่ 3 แบบ คือ ยากินคุมกำเนิดหลังมีเพศสัมพันธ์หรือยากินคุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน, แบบที่มีฮอร์โมนเดี่ยว และแบบที่มีฮอร์โมนรวม ซึ่งเป็นแบบที่ใช้กันมากที่สุด ยากินคุมกำเนิดอาจไม่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการคุมกำเนิดในระยะยาว เพราะต้องกินยาทุกวันจึงมีโอกาสที่จะลืมกินได้ สำหรับผู้ที่ต้องเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมอาจไม่เหมาะเพราะจะทำให้น้ำนมออกน้อยลง อาจจะใช้เป็นยากินคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนเดี่ยวแทน ซึ่งสามารถใช้ได้ตั้งแต่หลังคลอด แต่ผลข้างเคียงคือการลืมกินยา และอาจมีเลือดออกทางช่องคลอดกระปริกระปรอยได้บ่อย
3. การฉีดยาคุมกำเนิด
การฉีดยาคุมกำเนิดสามารถฉีดได้ตั้งแต่ระยะหลังคลอดใหม่ ๆ ไม่มีผลต่อปริมาณน้ำนมแพทย์จะนัดฉีดทุก 3 เดือน ประสิทธิภาพการคุมกำเนิดดี เหมาะสำหรับการคุมกำเนิดระยะยาว ไม่ต้องกินยาทุกวัน ราคาถูก แต่อาจมีผลข้างเคียง เช่น เลือดประจำเดือนกระปริกระปรอยในระยะแรกแต่หลังจากนั้นส่วนใหญ่จะไม่มีประจำเดือน น้ำหนักขึ้นและเมื่อหยุดฉีดยา อาจจะต้องรอประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี จึงจะมีประจำเดือนและมีภาวะตกไข่ตามปกติ จึงไม่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการคุมกำเนิดในระยะเวลาสั้น ๆ
4. การทำหมัน
การทำหมันเหมาะสำหรับครอบครัวที่มีบุตรเพียงพอแล้ว การคุมกำเนิดวิธีนี้มีผลดี คือ เจ็บครั้งเดียว สะดวก ปลอดภัย ไม่มีผลต่อสุขภาพหรือสมรรถภาพทางเพศตามความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง
การทำหมันหญิง คือ การผูกและตัดท่อนำไข่ทั้งสองข้าง สามารถทำได้ตั้งแต่หลังคลอดใหม่ ๆ เรียกว่า การทำหมันเปียก และถ้าทำหมันในช่วงที่พ้นระยะหลังคลอดไปแล้ว เรียกว่า การทำหมันแห้ง
การทำหมันชาย คือ การผูกและตัดท่อนำเชื้อทั้งสองข้างในถุงอัณฑะ สามารถทำได้ตลอดเวลา ไม่ต้องนอนพักในโรงพยาบาล
5. การฝังยาคุมกำเนิด
การฝังยาคุมกำเนิดสามารถทำได้ตั้งแต่ระยะคลอดใหม่ ๆ ไม่มีผลต่อปริมาณน้ำนม แพทย์จะฝังหลอดยาเล็ก ๆ ยาวประมาณ 3 เซนติเมตร แบบจำนวน 1หลอด, 2 หลอด หรือ 6 หลอด (แล้วแต่ชนิดของยา) เข้าใต้ผิวหนังบริเวณท้องแขนด้านใน ยาฝังคุมกำเนิดจะมีฤทธิ์คุมกำเนิด 3-5 ปี แล้วแต่ชนิดของยา ข้อดีคือสามารถคุมกำเนิดได้นาน ไม่ต้องกินยาทุกวัน แต่ผลข้างเคียงที่พบบ่อยคือ ประจำเดือนกระปริกระปรอย น้ำหนักขึ้น
อ้างอิงข้อมูลจาก : https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=575